การปล่อยก๊าซคาร์บอนของคนที่รวยที่สุดเพียง 1% สามารถเพิ่มความหิวโหย ความยากจน และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
Oxfam เผยรายงานฉบับหนึ่งระบุไว้ว่าการปล่อยคาร์บอนของกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% ของโลกส่งผลให้เกิดปัญหาความหิวโหย ความยากจน และการเสียชีวิต รวมถึงเป็นอุปสรรคในการทำให้อุณหภูมิของโลกให้คงที่อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
จากรายงานของ Oxfam การปล่อยคาร์บอนสูงของกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดนี้มาจากเรือยอร์ชหรูหรา เครื่องบินส่วนตัว และการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ รวมไปถึงการบริโภคของพวกเขา จึงทำให้มีการปล่อยคาร์บอนสูง จึงทำให้การจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสทำได้ยากขึ้น
หากทุกคนบนโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราเดียวกับมหาเศรษฐีโดยเฉลี่ย ปริมาณคาร์บอนที่จำกัดไว้เพื่อให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะหมดไปในเวลาไม่ถึง 2 วัน แทนที่จะเป็นภายใน 4 ปี แบบที่ประมาณการไว้ หากการปล่อยก๊าซคาร์บอนยังคงเป็นเหมือนในปัจจุบัน
ซึ่งช่วงนี้ใกล้จะถึงช่วงการตั้งงบประมาณในสหราชอาณาจักร การเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกา และการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ Cop29 ทาง Oxfam หรือองค์กรการกุศลในอังกฤษ จึงได้ตรวจสอบความไม่เท่าเทียมกันของคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเก็บภาษีคนรวยเพื่อลดการบริโภคที่มากเกินไป และสร้างรายได้เพิ่มเติมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อนำรายได้ไปชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
ผลการวิจัยของ Oxfam พบว่ามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด 50 อันดับแรกของโลก มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่าคนอังกฤษปล่อยตลอดชีวิต ในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาใช้เครื่องบินส่วนตัว 184 ครั้งในหนึ่งปี และใช้เวลาอยู่บนเครื่องบิน 425 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของคนทั่วไปในโลกถึง 300 ปี และเรือยอร์ชสุดหรูของพวกเขาก็ปล่อยคาร์บอนเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของคนทั่วไป 860 ปี
เครื่องบินส่วนตัว 2 ลำของเจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้ง Amazon ใช้เวลาบินอยู่บนฟ้านานเกือบ 25 วัน ในช่วงเวลา 1 ปี และปล่อยคาร์บอนเท่ากับพนักงาน Amazon ในสหรัฐอเมริกาที่ปล่อยออกมาถึง 207 ปีเลยที่เดียว
ในขณะเดียวกันเรือยอร์ชทั้งสามลำของตระกูลวอลตัน ซึ่งเป็นทายาทเครือ้านค้าปลีกวอลมาร์ท ก็มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนรวมกันใน 1 ปี ถึง 18,000 ตัน เทียบเท่าพนักงานร้านค้าวอลมาร์ทถึง 1,714 คน ซึ่งทาง Oxfam ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐมนตรีคลังของอังกฤษเพิ่มภาษีสำหรับ “ความมั่งคั่งที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสภาพอากาศ” โดยเริ่มจากเครื่องบินส่วนตัวและเรือยอร์ชสุดหรู เพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤตด้านสภาพอากาศได้
นักวิจัยของ Oxfam ได้พัฒนาวิธีการคำนวณการปล่อยมลพิษจากเรือยอร์ชโดยใช้ข้อมูลขนาดของเรือ คุณสมบัติของเครื่องยนต์ ประเภทเชื้อเพลิง จำนวนชั่วโมงที่อยู่บนทะเล และยังมีข้อมูลเครื่องปั่นไฟสำหรับอ่างน้ำร้อน และเครื่องปรับอากาศสำหรับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ทางอเล็กซ์ เมตแลนด์ (Alex Maitland) ที่เป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานได้กล่าวว่า “ผลการค้นพบที่สำคัญสำหรับเราก็คือ เรือยอร์ชถือเป็นของเล่นที่ก่อมลพิษมากที่สุดที่เศรษฐีสามารถซื้อได้ ยกเว้นยานอวกาศเท่านั้น”
และสิ่งที่สร้างความเสียหายยิ่งกว่าเรือยอร์ชและเครื่องบินเจ็ท (เครื่องบินส่วนตัว) นั่นก็คือก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากการลงทุนของกลุ่มคนร่ำรวย ซึ่งสูงกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเรือยอร์ชและเครื่องบินเจ็ท ถึง 340 เท่า
โดยเฉลี่ยแล้วพอร์ตโฟลิโอการลงทุนของมหาเศรษฐี 50 รายที่เข้าร่วมการวิจัยในครั้งนี้ สร้างมลพิษมากกว่าการลงทุนในดัชนีหุ้นหลักของสหรัฐฯ เกือบ 2 เท่า โดยหุ้นที่มหาเศรษฐีเหล่านี้ถือหุ้นอยู่เกือบ 40% อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยมลพิษสูง เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน การทำเหมือง การขนส่ง และปูนซีเมมนต์ ซึ่งบริษัทเหล่านี้หลายแห่งจ้างนักล็อบบี้ (อาชีพคล้ายนายหน้า ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการติดต่อทำความรู้จัก ช่วยสร้างความสัมพันธ์ หรือ Connection ช่วยเจรจาเพื่อต่อรองเพื่อประสานผลประโยชน์) และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดเพื่อขัดขวางการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Oxfam กล่าวว่าการลงทุนเป็นพื้นที่ที่ มีศักยภาพสูงสุดในการสร้าง การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพราะมหาเศรษฐีมีทางเลือกในการใช้เงินของตนเอง หากพวกเขาเปลี่ยนการถือครองของตนเป็นกองทุนที่มีความเข้มข้นของคาร์บอนต่ำ การปล่อยมลพิษจากการลงทุนของพวกเขาจะลดลงได้ถึง 13 เท่า
และรายงานยังได้ระบุว่าผลอันเลวร้ายที่จะตามมาจากความไม่เท่าเทียมทางคาร์บอน โดยในศตวรรษหน้าจะมีผู้เสียชีวิตเกิน 1.5 ล้านคนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อการบริโภคของกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% ซึ่งมีรายได้อย่างน้อย 140,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,732,770 บาท ระหว่างปี 2015 - 2019 นั่นเอง
ที่มา
Comments