เราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์มปศุสัตว์ได้อย่างไร?
ปัจุบันภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกกำลังหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการทำฟาร์มปศุสัตว์สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิิดภาวะโลกร้อน ที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้
ฟาร์มปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร?
หลายคนอาจจะทราบอยู่แล้วว่า สัตว์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น วัว ควาย แกะ และหมู มักจะผลิตก๊าซมีเทนออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งก๊าซมีเทนก็เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และจากรายงานของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (Environmental Protection Agency หรือ EPA) เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ระบุไว้ว่าอุตสาหกรรมภาคปศุสัตว์และการเกษตรสร้างก๊าซมีเทน (Methane Gas) ราว ๆ 37% ของกิจกรรมมนุษย์ทั้งหมด เช่น วัวเพียง 1 ตัว สามารถผลิตก๊าซมีเทนได้ถึง 70- 120 กิโลกรัมต่อปีกันเลยทีเดียว โดยส่วนใหญ่แล้วก๊าซเรือนกระจกจะถูกปล่อยออกมาจากกระบวนการย่อยมากที่สุด
เนื่องจากวัวมีถึง 4 กระเพาะ และในกระเพาะส่วนแรกที่รับอาหาร หรือ รูเมน (Rumen) เป็นส่วนกระเพาะขนาดใหญ่ที่วัวใช้ ‘จุลินทรีย์’ ซึ่งก็มีหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ดีสามารถสร้างพลังงาน และกลุ่มที่สามารถสร้างก๊าซเรือนกระจกในการหมักอาหาร เช่น จุลินทรีย์กลุ่มเมทาโนเจน (Methanogen) ที่สามารถสร้างก๊าซมีเทนได้ โดยในกระบวนการหมักอาหารของวัว ซึ่งทำให้เกิดก๊าซต่างๆ อาจปล่อยก๊าซผ่านการเรอราว 95% และอีก 5% ผ่านการผายลมของสัตว์
ส่วนอีกทางคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่าน ‘มูลสัตว์’ โดยในกรณีนี้อาจเป็นผลมาจากวิธีจัดการมูลสัตว์รูปแบบต่าง ๆ เช่น การหมักปุ๋ย ที่สามารถสร้างก๊าซไนตรัสออกไซด์ได้
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (Environmental Protection Agency หรือ EPA) ระบุไว้ว่า “ปศุสัตว์” ไม่ใช่อุตสาหกรรมเดียวทีปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ปริมาณก๊าซมีเทนมหาศาลที่มาจากภาคการเลี้ยงสัตว์นั้น ก็ไม่สามารถมองข้ามได้
แต่แน่นอนว่าการงดกินเนื้อวัวหรือเนื้อสัตว์ทั่วโลกและการเลิกทำฟาร์มปศุสัตว์นั้นคงจะเป็นไปไม่ได้ ทาง yologreennews จึงรวบรวบวิธีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์ไว้ดังนี้
1.การเก็บภาษี “เรอ” : เนื่องจากการเรอและการผายลมของวัว คิดเป็น 15% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก หากเก็บภาษีแล้วนำไปลงมุนกับงานวิจัยและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้สามารถทำฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด จะทำให้ลดก๊าซมีเทนถูกปล่อยออกมาได้ในปริมาณที่มาก
2.การปรับปรุงพันธุ์วัว : ปรับปรุงพันธุกรรมของวัวให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง
3.ปรับปรุงสูตรอาหารวัว: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวัวหรือสัตว์อื่น ๆ อาหารที่กินเข้าไปก็มีส่วนในการสร้างก๊าซมีเทนเช่นกัน อาหารสัตว์ที่ทำมาจากสาหร่ายสีแดงที่มีชื่อว่า Asparagopsis taxiformis โดยสาหร่ายนี้จะมีสารเคมีที่ลดจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหารของวัว ซึ่งงานวิจัยจาก College of Agricultural and Environmental Sciences ชี้ว่า การให้วัวกินสาหร่ายทะเลสีแดงแทนหญ้าจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 80 %
4.ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ในการทำฟาร์ม: ใช้เทคโนโลยีในการควบคุมสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เช่น การใช้แผ่นเก็บข้อมูลที่ปลอกคอของวัว และการใช้ระบบพัฒนาในการจัดการมูลสัตว์ เพื่อที่จะสามารถควบคถมการปล่อยก๊าซมีเทน เป็นต้น
5.การสร้างสมดุลจุลินทรีย์กลุ่มเมทาโนเจน: จุลินทรีย์กลุ่มเมทาโนเจน’ สามารถสร้างก๊าซมีเทนในกระเพาะส่วนรูเมนของวัว หากสร้างสมดุลนี้ได้ จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกูกปล่อยอออกมานั้นลดน้อยลง
6.เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง : การที่เรารับประทานเนื้อสัตว์น้อยลงจะส่งผลให้การผลิตเนื้อสัตว์น้อยลงตามไปด้วย และเมื่อการผลิตเนื้อสัตว์น้อยลงก็จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงตามไปด้วยเช่นกัน
7.ปรับเปลี่ยนปุ๋ยที่ใช้ในการปลูกพืชและนำมาเลี้ยงสัตว์: ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ที่เป็นส่วนประกอบในปุ๋ยมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 265 เท่า หากปรับเปลี่ยนปุ๋ยที่ใช้ปลูกพืชก็จะสามารถลดโลกร้อนได้เช่นกัน
ในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน จากฟาร์มปศุสัตว์นี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภารรัฐ เอกชน และประชาชน จึงจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ได้ ไม่ใช่แค่เพียงการลดในอุตสาหกรรมปศุสัตว์เพียงเท่านั้น หากหลายภาคส่วนร่วมมือกันไม่ว่าจะอุตสาหกรรมใดก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน
ที่มา
Comments