6 แนวทางในการลด PM2.5 ในปี 2568 ที่จะถึงนี้
ในปี 2567 นี้สถานการณ์ของ PM2.5 ยังคงเป็นที่น่ากังวลและน่าจับตามอง โดยเฉพาะภาคเหนือและกรุงเทพมหานคร ปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทางรัฐบาลจึงได้วางมาตรการในการรับมือไว้อยู่ 6 แนวทางในการจัดการมลพิษทางอากาศในปี 2568 ที่จะถึงนี้
ปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในทุก ๆ ปี ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน จากข้อมูลของ IQAir air quality index พบว่า กรุงเทพมหานครมีความเข้มข้นของ PM2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศรายปีของ WHO ถึง 3.2 เท่า
ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ทางกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จึงจัดประชุม “การคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และการเตรีมการรับมือในปี 2568” ณ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) อาคารกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
และทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้มีการจัดทำ “มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568” โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบมาตรการฯ และกลไกการบริหารจัดการ โดยจะขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาคหรือข้ามเขตป่าหรือเขตปกครอง และระดับจังหวัด
6 แนวทางในการลด PM2.5 ในปี 2568
1.ระยะเตรียมการ: จัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา Risk Map แผนปฏิบัติการจัดการไฟป่าตามห้วงเวลา แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเสี่ยงเผาและข้อมูลเกษตรกรรายจังหวัด
2. การจัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ: โดยตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ชุดดับไฟป่า บริหารจัดการเชื้อเพลิง ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนโดยไม่เผา รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินของรัฐ และมุ่งเน้นการเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
3. การจัดการในพื้นที่เกษตร: โดยประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ไฟและบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรเท่าที่จำเป็นและมีการควบคุม ควบคุมอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน หากฝ่าฝืนถูกบังคับใช้กฎหมาย ตัดสิทธิความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ให้สิทธิหรือเพิกถอนสิทธิ ส.ป.ก./นิคมสหกรณ์ กับเกษตรกรที่ไม่ร่วมมือ รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรปรับรูปแบบการผลิต และออกมาตรการสิทธิและประโยชน์ให้เกษตรกรที่ไม่เผา
4. การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง: ออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมืองช่วงวิกฤต สนับสนุนการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ มีนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ เร่งรัดเปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า ตรวจจับรถยนต์ควันดำ รถบรรทุก พื้นที่ก่อสร้าง ผู้ทำผิดวินัยจราจร โดยปรับสูงสุด ตรวจบังคับใช้กฎหมายโรงงานและสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ควบคุม/จับกุม ผู้ลักลอบเผาในเขตชุมชนและริมทาง
5.การจัดการหมอกควันข้ามแดน: ส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา จัดการหารือระดับรัฐมนตรีก่อนเริ่มฤดูหมอกควัน ตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟ ในประเทศเพื่อนบ้าน
6.การบริหารจัดการภาพรวม: จะเร่งรัดการของบกลางสนับสนุน ให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ PM2.5 มีนโยบายการ Work From Home ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด พื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาวิกฤต
จากมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็หวังว่าในปี 2568 ที่จะถึงนี้ ปริมาณ PM2.5 จะลดลงและสามารถนำมาปรับใช้ได้ในระยะยาว และหากอยากติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 สามารถติดตามได้จากแอปพลิเคชั่น Air4Thai และแฟนเพจศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)
ที่มา
Comments