![พื้นที่ทั่วโลกกว่า 40% เริ่มแห้งแล้งแล้ว](https://static.wixstatic.com/media/a3760b_c6378677d7bb49be8170114bd3c51317~mv2.png/v1/fill/w_980,h_551,al_c,q_90,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/a3760b_c6378677d7bb49be8170114bd3c51317~mv2.png)
จากการวิจัยพบว่าพื้นที่ 40% ของโลกกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งถาวรไปหมดแล้ว ซึ่งทำการเกษตรได้ยากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันพื้นที่ดินร้อยละ 40 ของพื้นที่ดินทั้งหมดในโลกกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเปลี่ยนสภาพมาจากสภาพดินที่มีความชื้น โดยจากการวิจัยของ UN Science Policy Interface ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ คาดว่าพื้นที่ที่แห้งแล้งนี้จะคงอยู่ถาวร
“อิบราฮิม เทียว” (Ibrahim Thiaw) เลขาธิการบริหารอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติเพื่อต่อสู้กับการกลายเป็นทะเลทราย (UNCCD) ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “แตกต่างจากภัยแล้งซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฝนตกน้อยชั่วคราวแต่ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถาวรและไม่หยุดยั้ง” และยังได้กล่าวอีกว่า
“ภัยแล้งสิ้นสุดลงแล้ว แต่เมื่อสภาพภูมิอากาศของพื้นที่หนึ่งเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแห้งแล้งมากขึ้น ความสามารถที่จะกลับคืนสู่สภาพเดิมจะสูญเสียไป สภาพอากาศที่แห้งแล้งซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อพื้นที่กว้างใหญ่ทั่วโลกในขณะนี้ จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีก และการเปลี่ยนแปลงนี้กำลังนิยามชีวิตบนโลกใหม่อีกครั้ง”
การที่ภัยแล้งมีความรุนแรงมากขึ้นนั้นส่งผลให้ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากพืชบางชนิดจะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ โดยคาดว่า “ข้าวโพด” จะลดลงครึ่งหนึ่งในประเทศเคนยาภายในปี พ.ศ.2593 หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ และพื้นที่สองในสามของโลกจะสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้น้อยลงภายในกลางทศวรรษนี้
ในตอนนี้ปัญหาเรื่องน้ำของโลกทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สาเหตุก็มาจากความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก จากการศึกษาของ SPT (science-policy interface) พบว่าในปี 2020 หรือ พ.ศ.2563 มีประชากรถึง 2.3 พันล้านคนทั่วโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง เพิ่มขึ้นจากปี 1990 หรือ พ.ศ.2533 ถึง 22.5%
ซึ่งคาดว่าภายในปี 2100 หรือ พ.ศ.2643 ประชากรที่จะอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หากยังมีการลดการปล่อยคาร์บอนน้อยเกินไป โดยในปัจจุบันประชากรในแอฟริกาเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“Barron Orr” หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ UNCCD (อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย) กล่าวว่า “เป็นครั้งแรกเลยที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของ UN ได้ออกมาเตือนว่าการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งถาวรในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในการเข้าถึงแหล่งน้ำและอาจจทำให้มนุษย์และธรรมชาติเข้าใกล้จุดเปลี่ยนที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้น ”
การที่พื้นดินประมาณ 40% ของโลกกลายเป็นพื้นดินแห้งแล้งถาวรนั่นก็แสดงให้เห็นว่าทั้งคุณภาพดินของโลกนั้นแย่ลง และผลกระทบที่จะส่งถึงมนุษย์ก็จะมากขึ้น ซึ่งการที่พื้นที่ดินเสื่อมโทรมแบบนี้ มนุษย์มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
หากภาวะความแห้งแล้งยังคงรุนแรงมากขึ้นเช่นนี้จะส่งผลให้ความยากจนทวีความรุนแรงมากขึ้น ทรัพยากรบนโลกจะลดน้อยลง ดินเสื่อมโทรม เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร และปัญหาสุขภาพของประชากรโลกก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
ในตอนนี้เรามีวิธีแก้ไขปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรมแบบยั่งยืน การบริหารจัดการน้ำ การปลูกป่าทดแทน และการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนต่าง ๆ มากมาย แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีในระดับท้องถิ่นและระดับชาติเพื่อรับมือกับปัญหาการกลายเป็นทะเลทรายของโลกที่หล่อเลี้ยงชีวิตอันล้ำค่าของเรา “มาร์ก มาสลิน”(Mark Maslin) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ระบบโลกจาก University College London (UCL) ได้กล่าวไว้
ที่มา
Comments