ปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมในโรงงานหรือบริษัทต่าง ๆ มีความเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นแต่ละโรงงานก็จะมีมาตรฐานหรือการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ ในด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวบ่งชี้ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม หากโรงงานใดมีมาตรฐานหรือการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะเปิดโอกาสและสร้างความไว้วางใจแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการได้มากขึ้น
มาตรฐานและการรับรองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีหลากหลายประเภทและหลายชนิดเพื่อควบคุมและป้องกันกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งครอบคลุมทั้ง น้ำ อากาศ ดิน และของเสียเป็นต้น เช่น ISO14001, Green Industry และ Eco Factory เป็นต้น โดยในบทความนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “Eco Factory”
Eco Factory คืออะไร?
Eco Factory หรือ โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ คือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาชุมชนและการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน โดยคุณลักษณะสำคัญของ Eco Factory มีอยู่ 5 ประการดังนี้
1.มีการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ หรือมีของเสียเกิดน้อยที่สุด
2.มีการใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
3.มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีและได้มาตรฐาน
4.มีการดำเนินกิจกรรมที่น่าเชื่อถือ
5.มีการเกื้อกูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือสังคมโดยรอบ
เกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
เกณฑ์การประเมินของ Eco Factory จะมีทั้งหมด 14 ข้อ โดยทุกข้อจะอยู่ภายใต้เกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco Efficiency) และ ตัวชี้วัดทางด้านสังคม (Impact Evaluation) ดังนี้
1.การจัดการวัตถุดิบ: การดำเนินมาตรการ ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการหรือเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตและบริการต่าง ๆ
2.การจัดการพลังงาน: การดำเนินมาตรการ ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการหรือเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อลดการใช้พลังงานในการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ
3.การจัดการน้ำและน้ำเสีย: ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency) เพื่อลดการเกิดน้ำเสียและปล่อยน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน และลดวอเตอร์ฟุตพรินต์ขององค์กร
4.การจัดการมลภาวะทางอากาศ: การดำเนินมาตรการ ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการหรือเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
5.การจัดการก๊าซเรือนกระจก: การดำเนินมาตรการ ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการหรือเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตในกระบวนการ
6.การจัดการของเสีย: ลดการนำของเสียไปฝังกลบและเพิ่มการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งของเสียจะรวมถึง ขยะทั่วไป และขยะอันตราย ส่วนการนำกลับมาใช้ใหม่ จะรวมถึงการนำของเสียมาใช้ในกระบวนการผลิตหรือส่งไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตโรงงานอื่น ๆ
7.การจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย: ลดการรั่วไหลของสารเคมีและวัตถุอันตราย ไม่มีเหตุการณ์รั่วไหลหรืออุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อพนักงาน ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก
8.การจัดการสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน: ในการทำงานพนักงานจะต้องมีความปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดีในการทำงาน มีการดูแลสุขภาพพนักงานด้านชีวอนามัย และมีการวิเคราะห์ในด้านความปลอดภัยและการเสี่ยงอันตรายที่เกิดจากการประกอบกิจการ
9.การจัดการระบบขนส่งและโลจิสติกส์: ลดการใช้ทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพิ่มประสิทธิภาพและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอัตโนมัติกับระบบขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการขนส่งและโลจิสติกส์
10.การจัดการโซ่อุปทานสีเขียว: ส่งเสริมนโยบายการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว ก็คือ การจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
11.การจัดการภูมิทัศน์สีเขียว: เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งภายในและภายนอกโรงงาน
12.การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ: ลดอัตราการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ลดการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของทรัพยากรชีวภาพ
13.การกระจายรายได้ให้กับชุมชน: การสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน รวมถึงการเกื้อกูลกันระหว่างชุมชนกับโรงงาน
14.การอยู่ร่วมกันกับชุมชนโดยรอบ: เปิดโอกาสให้ชุมชนโดยรอบมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงมีการดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชน
โดยเกณฑ์เหล่านี้จะต้องได้ผ่านการประเมินจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ:
-เกณฑ์การประเมิน Eco Factory ของโรงงานขนาดใหญ่จะต้องเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับ 3 หรือ ISO 14001 และไม่มีข้อร้องเรียน 1 ปี
-เกณฑ์การประเมิน Eco Factory ของโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม จะต้องเป็นอุตาหกรรมสีเขียวระดับ 2 หรือ ธงขาวดาวเขียว และไม่มีข้อร้องเรียน 1 ปี
สำหรับระดับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory มีรายละเอียดดังนี้
ร รูปภาพจาก ECO FACTORY โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ที่มา
เผยแพร่เมื่อวันที่
Comments